จังหวัดปัตตานี



ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดปัตตานี จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ภาคใต้ของประเทศไทย ห่างจากรุงเทพฯ ๑,๐๕๕ กม. มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๙๔๐.๓๕ ตร.กม. หรือ ประมาณ ๑,๒๑๒,๗๒๓ ไร่ มีอาณาเขต ติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอ่าวไทย
- ทิศใต้ ติดต่อกับเขตอำเภอเมืองยะลา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และเขตอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตอำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
สภาพภูมิประเทศ แบ่งเป็น ๓ ลักษณะ ประกอบด้วย พื้นราบชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ ๑ ใน ๓ ของพื้นที่จังหวัด ได้แก่ ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของจังหวัดมีหาดทรายยาว และเป็นที่ราบชายฝั่งกว้างประมาณ ๑๐ – ๓๐ กิโลเมตร พื้นที่ราบลุ่ม บริเวณตอนกลาง และตอนใต้ของจังหวัด มีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่านที่ดินมีความเหมาะสม ในการเกษตรกรรมและพื้นที่ภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนน้อยอยู่ทางตอนใต้ของอำเภอโคกโพธิ์ อำเภอกะพ้อ และทางตะวันออกของอำเภอสายบุรี
ลักษณะอากาศทั่วไป จังหวัดปัตตานี อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำฤดูกาล ๒ ชนิด คือ ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนตั้งแต่ ภาคกลางขึ้นไปมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงไปกลับมีฝนตกชุกเพราะลมมรสุมนี้ พัดผ่านอ่าวไทยจึงพัดพาเอาไอน้ำไปตกเป็นฝนทั่วไป ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่นๆ ที่อยู่ทางตอนบนของ ประเทศ และจังหวัดปัตตานีซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกได้รับอิทธิพลของลมนี้เต็มที่จึงมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ปานกลางและมีอากาศเย็นเป็นครั้งคราว ลมมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือลมมรสมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีด้านตะวันตกซึ่งปิดกั้นกระแสลมเอาไว้ จึงทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจังหวัดปัตตานีมีฝนน้อยกว่าภาคใต้ ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุม
คำขวัญ ประจำจังหวัดปัตตานี
“เมืองงามสามวัฒนธรรม
ศูนย์ฮาลาลเลิศล้ำ ชมน้อมนำศรัทธา
ถิ่นธรรมชาติงามตา
ปัตตานีสันติสุขแดนใต้ ”
ข้อมูลพื้นฐานอำเภอสายบุรี



อำเภอสายบุรี
- สายบุรี เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ชาวไทยเชื้อสายมลายูจะเรียกว่า ตะลุแบ (มลายู: تلوبن Taluban; Telubae) หรือในภาษามลายู-สันสกฤตเรียกว่า สลินดงบายู[1] หรือ ซือลินดงบายู (มลายู: سليندوڠ بايو Selindung Bayu) แปลว่า ที่กำบังลมพายุ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง มีความหลากหลายทางด้านภาษาเมืองสายบุรี เดิมเรียกกันว่า เมืองสาย ซึ่งมาจากภาษามลายูว่า นครีซา มีความหมายว่า “เมืองแห่งปฏัก” ซึ่งคำว่า ซา มาจากคำว่า ซากาเยาะ คือ ปฏัก (อุปกรณ์ที่ควาญช้างใช้บังคับช้าง)และยังมีชื่อในภาษามลายูที่ยืมคำมาจากภาษาสันสกฤต คือ ซือลินดงบายู ซือมาลันบุลัน มาตันดูวอ อันมีความหมายว่า เมืองกำบังลมพายุใต้แสงจันทร์ ณ ธารสองสาย อำเภอสายบุรีตั้งอยู่ริมชายฝั่งทางทิศตะวันออกของจังหวัด อำเภอสายบุรีห่างจากศาลากลางจังหวัดปัตตานีประมาณ 50 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอปะนาเระ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอไม้แก่น อำเภอบาเจาะ (จังหวัดนราธิวาส) และอำเภอกะพ้อ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกะพ้อ อำเภอทุ่งยางแดง และอำเภอมายอ

“บูดูสะอาด หาดงามวาสุกรี สักขีวัดเก่า ภูเขาสลินดง คงวัฒนธรรม งามล้ำเมืองสาย”